อดัม สมิธ (อังกฤษ: Adam Smith) นักปรัชญาศีลธรรม และ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้บุกเบิกชาวสกอตแลนด์ อดัม สมิธ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรี เป็นบุคคลสำคัญในขบวนการที่เป็นที่รู้จักในชื่อว่า "ยุคสว่างของสกอตแลนด์" (Scottish Enlightenment) โดยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้แต่งศาสตรนิพนธ์2 เรื่องคือ ทฤษฎีว่าด้วยศีลธรรมเร้าอารมณ์ (พ.ศ. 2302) และ การสอบสวนธรรมชาติและสาเหตุแห่งความมั่งคั่งของประชาชาติ (พ.ศ. 2319) ซึ่งศาสตรนิพนธ์เรื่องหลังนับเป็นความพยายามในยุคแรกๆ ของการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมและพานิชยกรรมในยุโรป อีกทั้งยังเป็นการโจมตีลัทธิพาณิชยนิยมอย่างไม่ปล่อย งานของอดัม สมิธได้กลายเป็นรากฐานวิชาการเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรีและช่วยเป็นเหตุผลเชิงปัญญาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดที่มารองรับการค้าเสรี ระบอบทุนนิยมและอิสรเสรีนิยม
อดัม สมิธ เป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะเป็นเจ้าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ลัทธิเสรีนิยมที่ประณามสมาคมอาชีพในยุโรปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 2244 - พ.ศ. 2343) สมิธเชื่อในสิทธิ์ของบุคคลที่จะสามารถใช้อิทธิพลของตนเองสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องตกเป็นหุ่นเชิดของสมาคมอาชีพหรือของรัฐ ทฤษฎีของสมิธมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐศาสตร์เดิมของยุโรป ทำให้ยุโรปส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ที่ยอมให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันได้ อดัม สมิธได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์"
อดัม สมิธ ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสาขาปรัชญาศีลธรรมกับฟรานซิส ฮัทชีสัน ที่มหาวิทยาลัยนี้เองที่อดัม สมิธได้เกิดกัมภาวะอย่างแรงกล้าในเสรีภาพ เหตุผล และเสรีภาพในการพูด ในปี พ.ศ. 2283 สมิธได้รับรางวัล "สเนลล์เอกซ์บิชัน" (รางวัลเรียนดีสำหรับนิสิตกลาสโกว์ที่ต้องการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด) และเข้าเรียนที่ วิทยาลัยบาลลิออล แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ออกซ์ฟอร์ดในยุคนั้นก็ไม่ได้ให้สิ่งที่จะเป็นงานสำคัญในชีวิตต่อมาของสมิธมากนัก สมิธออกจากออกซ์ฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2289 ในหนังสือเล่ม 5 เรื่อง"ความมั่งคั่งของประชาชาติ" (The Wealth of Nations) ได้วิจารณ์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยของอังกฤษในขณะนั้นว่ามีคุณภาพในการสอนต่ำและมีกิจกรรมเชิงปัญญาน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยสก็อตคู่แข่ง สมิธเห็นว่าเป็นผลที่เกิดจากเงินกองทุนที่มีมากมายเกินไปทั้งที่ออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ทำให้ศาสตราจารย์มีรายมากได้โดยไม่ต้องมีความสามารถในการสร้างความน่าสนใจแก่นิสิต และทำให้นักอักษรศาสตร์มีความเป็นอยู่สุขสบายมากกว่าประมุขฝ่ายศาสนจักรของอังกฤษเสียอีก
ในปี พ.ศ. 2291 อดัม สมิธ เริ่มงานบรรยายสาธารณะในเอดินบะระโดยอุปถัมภ์ของ ลอร์ดเคมส์ แต่ต่อมาได้เริ่มงานเขียนเรื่อง "ความก้าวหน้าแห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์" ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในวัย 20 ต้นๆ ของสมิธที่สนับสนุนปรัชญาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "ระบบที่ชัดเจนและง่ายของเสรีภาพธรรมชาติ" ซึ่งสมิธได้ประกาศต่อโลกในหนังสือ "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" ประมาณ พ.ศ. 2293 สมิธได้พบกับนักปรัชญาชื่อ เดวิด ฮูม ซึ่งอายุมากกว่าสมิธประมาณ 10 ปี จะปรากฏพบความขนานในแนวคิดของทั้งสองในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์และศาสนาที่เกิดจากการมิตรภาพที่ใกล้ชิดสนิทสนมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางปัญญากันอยู่เสมอจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่เรียกกันว่า "ยุคสว่างของสกอตแลนด์" แอดัมสมิธเป็นสมาชิกสำคัญของ สโมสรโปกเกอร์แห่งเอดินบะระ
ในปี พ.ศ. 2321 อดัม สมิธได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงศุลกากรในสกอตแลนด์และได้ย้ายไปอยู่กับแม่ที่เอดินบะระ ในปี พ.ศ. 2326 สมิธได้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง "ราชสมาคมแห่งเอดินเบรอะ" และจาก พ.ศ. 2330 - พ.ศ. 2332 ได้รับตำแหน่งอธิการบดีกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์
อดัม สมิธถึงแก่กรรมที่ เอดินบะระ สก็อตแลนด์เมื่ออายุได้ 67 ปี หลังจากการเจ็บป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ศพของสมิธได้รับการฝังไว้ที่แคนอนเกทเคิร์กยาร์ด
หลักการภาษีของอดัม สมิธ ในหนังสือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations นั้น แอดัม สมิธได้กำหนดหลัก (maxim) 4 ข้อเกี่ยวกับการภาษีโดยทั่วไป ดังนี้ (ที่ http://www.econlib.org/LIBRARY/Smith/smWNtoc.html ภาค 5 บทที่ 2 ย่อหน้า 24 หรือย่อว่า V.2.24)
อดัม สมิธเห็นว่าภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีกำไร (ส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยสำหรับทุน) จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการเก็บ เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือทำให้ผู้ผลิตท้อถอย เช่น ภาษีกำไร สมิธคัดค้านภาษีที่เปิดโอกาสให้มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้น ท่านกล่าวว่า “ทำให้ทุกครอบครัวอาจถูกเยี่ยมกรายและตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจากเจ้าพนักงานภาษี...ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพเลย” (V.3.75)
ภาษีที่อดัม สมิธเสนอแนะให้เก็บมี 2 ชนิด คือ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และ ภาษีค่าเช่าที่ดิน (มูลค่าครอบครองที่ดินรายปี)
สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย อดัม สมิธอธิบายคำว่า ‘จำเป็น’ ว่าอาจเปลี่ยนไปได้แล้วแต่สถานที่และเวลา ซึ่งขณะนั้น เสื้อผ้าลินิน รองเท้าหนัง อาหารและที่อยู่อาศัยขั้นต่ำถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ท่านตำหนิรุนแรงว่าภาษีที่เก็บจากสินค้าจำพวกเกลือ สบู่ ฯลฯ เป็นการเอาจากคนที่ยากจนที่สุดโดยไม่เป็นธรรม ท่านถือว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นยาสูบ เป็นภาษีที่ดีเลิศ เพราะไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องจ่าย “ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่มีแนวโน้มที่จะไปเพิ่มราคาโภคภัณฑ์อื่น ๆ เว้นแต่โภคภัณฑ์ที่ถูกเก็บภาษี … ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นในที่สุดผู้บริโภคสิ่งนั้นจะเป็นผู้จ่ายโดยไม่ใช่เป็นการลงโทษ” (V.2.154)
ภาษีที่น่ายกย่องมากกว่าคือภาษีที่ดิน “ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคาร (ground-rents) และค่าเช่าที่ดินเกษตร (ordinary rent of land) ต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ แม้จะแบ่งรายได้นี้ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมใด ๆ ผลผลิตรายปีของที่ดินและแรงงานแห่งสังคม ซึ่งเป็นทรัพย์และรายได้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ จะยังคงเดิมหลังจากมีการเก็บภาษีนี้ ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด” (V.2.75)
ในภาคแรกอดัม สมิธกล่าวไว้ว่า “ดังนั้นค่าเช่าที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จ่ายสำหรับการใช้ที่ดิน จึงเป็นราคาแบบผูกขาดโดยธรรมชาติ มิใช่เป็นอัตราส่วนกับการซึ่งเจ้าที่ดินอาจลงทุนไปเพื่อปรับปรุงที่ดินแต่อย่างใดเลย หรือมิใช่ตามส่วนกับความสามารถที่เขาจะเรียกเอา แต่เป็นตามส่วนกับความสามารถของชาวนาที่จะให้” (I.11.5)
และในตอนสรุปของบทนี้ของภาคแรก อดัม สมิธได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การทำให้สภาวการณ์ของสังคมดีขึ้นทุกอย่างมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเช่าแท้จริงของที่ดินสูงขึ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเพิ่มความมั่งคั่งแท้จริงให้แก่เจ้าที่ดิน เพิ่มกำลังซื้อของเขาต่อแรงงาน หรือผลผลิตแห่งแรงงานของผู้อื่น” (I.11.255)
“การขยายสิ่งปรับปรุงและการเพาะปลูกมักจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้นโดยตรง ส่วนแบ่งของเจ้าที่ดินในผลผลิตย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น” (I.11.256)
ภาษีที่สมิธคัดค้านรุนแรงที่สุดคือภาษีที่เก็บจากค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน - “ในทุกกรณี ภาษีทางตรงที่เก็บจากค่าแรง ในระยะยาวแล้วย่อมจะทำให้ทั้งค่าเช่าที่ดินลดลงมากกว่าและราคาสินค้าประดิษฐกรรมแพงขึ้นมากกว่าที่จะเป็นถ้ามีการประเมินเก็บภาษีส่วนหนึ่งจากค่าเช่าที่ดินและอีกส่วนหนึ่งจากสินค้าแทน (ภาษีจากค่าแรง) ” (V.2.132)
ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ? ปรัชญาการศึกษา ? ปรัชญาประวัติศาสตร์ ? นิติศาสตร์ ? ปรัชญาสังคมศาสตร์ ? ปรัชญาความรัก
สังคม ? สงคราม ? กฎหมาย ? ความยุติธรรม ? สันติภาพ ? สิทธิมนุษยชน ? การปฏิวัติ ? การดื้อแพ่ง ? ประชาธิปไตย ? สัญญาประชาคม
อนาธิปไตย ? อำนาจนิยม ? อนุรักษนิยม ? เสรีนิยม ? อิสรนิยม ? ชาตินิยม ? สังคมนิยม ? ประโยชน์นิยม ? ทฤษฎีความขัดแย้ง ? ทฤษฎีความเห็นหมู่
เพลโต ? โสกราตีส ? อริสโตเติล ? ขงจื๊อ ? นักบุญออกัสติน ? นักบุญโทมัส อควีนาส ? มาเกียเวลลี ? ฮอบส์ ? ล็อก ? รูโซ ? มงแต็สกีเยอ ? วอลแตร์ ? อดัม สมิธ ? โรเบิร์ต พีล ? เอ็ดมันด์ เบิรก์ ? มิล ? แฟรงคลิน ? ไลบ์นิซ ? คานท์ ? ทอโร ? มหาตมา คานธี